ขนุน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lamk.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่อสามัญ Jack Fruit Tree
ชื่อท้องถิ่น
- ภาคเหนือ-ใต้ เรียก ขะหนุน
- ภาคอีสาน เรียก หมักหมี้, บักมี่
- จันทบุรี เรียก ขะนู
- มลายู-ปัตตานี เรียก นากอ
- ชาวบน-นครราชสีมา เรียก โนน
- เขมร เรียก ขนุน, ขะเนอ
ลักษณะ
- ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
- ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 - 15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนาผิวใบด้านล่างจะสากมือ
- ดอก เป็นช่อแบบช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน ดอกเพศผู้เรียกว่า "ส่า" มักออกตามปลายกิ่ง ดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และตามลำต้นยอดเกสรเพศเมีย เป็นหนามแหลม ส่วนของเนื้อที่รับประทานเจริญมาจากกลีบดอก ส่วนซังคือกลีบเลี้ยง จะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และเมษายน - พฤษภาคม
- ผล เป็นผลรวมมีขนาดใหญ่
- ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง
สรรพคุณทางยา
- ใบ รสฝาดมันรักษาหนองเรื้อรัง และใบสดนำมาตำให้ละเอียดอุ่นพอกแผล
- ราก รสหวานอมขม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ธาตุน้ำกำเริบ โลหิตพิการ ฝาดสมานบำรุงกำลัง และบำรุงโลหิต แก่นและราก รสหวานอมขม บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท และแก้โรคลมชัก
- ยาง รสจืด ฝาดเฝื่อน แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ขับพยาธิ และขับน้ำนม
- เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวานมันหอม บำรุงกำลัง และชูหัวใจให้ชุ่มชื่น
- เนื้อในเมล็ด รสหวานมัน บำรุงน้ำนม ขับน้ำนม และบำรุงกำลัง
ประโยชน์
- ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร
- เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด
- รากและแก่น ให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม
- ราก นำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้
- ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล
คติความเชื่อ
&n bsp; ขนุนนับได้ว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของคนไทย กำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) ตามโบราณเชื่อกันว่า การปลูกต้นขนุนในบริเวณบ้านจะหนุนเนื่อง บุญบารมี เงินทอง จะมีคนเกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล นำมาซ้อนกันแล้วนำไปไว้ใน ยุ้งข้าวตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปีและตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น